คุณกำลังมองหาอะไร?
ขนาดตัวอักษร Icon Icon
Icon
ความตัดกันของสี Icon
Icon
Icon

used1

การจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต
(Process Safety Management: PSM)


ความปลอดภัยในการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนา อุตสาหกรรมให้เจริญ เติบโตได้อย่างยั่งยืน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ให้ความสำคัญในการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Process Safety Management : PSM) ในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมสามารถ อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งจะนำไปสู่ การพัฒนายกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่การเป็นเมือง อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ดังนั้นกนอ. จึงได้ออก “ข้อบังคับคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไข ในการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 (ข้อบังคับฯ PSM) และที่แก้ไขเพิ่มเติม” เพื่อให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่เข้าข่ายสามารถนำระบบการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต (PSM) ไปดำเนินการเพื่อป้องกันควบคุม และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุอย่างมีประสิทธิภาพ

ความเข้าข่ายของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ตามข้อบังคับฯ PSM และที่แก้ไขเพิ่มเติม

          ความเข้าข่ายของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมตามข้อบังคับฯ PSM และที่แก้ไขเพิ่มเติม จะพิจารณาประเภทและปริมาณครอบครองของสารเคมีอันตรายร้ายแรง โดยผู้ประกอบอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมที่มีกระบวนการผลิต ดังต่อไปนี้ ต้องดำเนินการการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต และการตรวจประเมินความปลอดภัยกระบวนการผลิต


(1) กระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตรายร้ายแรงในปริมาณครอบครอง ณ เวลาใดเวลาหนึ่งเท่ากับหรือมากกว่าปริมาณที่กำหนดในบัญชีท้ายข้อบังคับฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 (Link) หรือ

(2) กระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับแก๊สไวไฟหรือของเหลวไวไฟที่มีปริมาณครอบครองตั้งแต่ 4,545 กิโลกรัม หรือ 10,000 ปอนด์ขึ้นไป ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง


          กระบวนการตาม (1) หรือ (2) ให้หมายความรวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอนเป็นเชื้อเพลิงซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องหรืออุปกรณ์ข้างเคียงหรือที่ต่อเนื่องกับกระบวนการผลิตดังกล่าวด้วย เว้นแต่การใช้เชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอนดังกล่าวไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตตาม (1) หรือ (2) เช่น เติมยานพาหนะ เป็นต้น

          ทั้งนี้ ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสามารถประเมินความเข้าข่ายตามข้อบังคับฯ PSM และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้ด้วยตนเองผ่านแบบสำรวจการครอบครองสารเคมี แก๊สไวไฟ และของเหลวไวไฟ ร่วมกับเอกสารแนวทางการพิจารณาความเข้าข่ายของประเภทและปริมาณสารเคมีตามข้อบังคับคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

มาตรฐานการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต ตามข้อบังคับฯ PSM และที่แก้ไขเพิ่มเติม

          กระบวนการในการพัฒนา จัดทำ และปฏิบัติตามมาตรฐานการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิตตามข้อบังคับฯ PSM และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ดังแสดงในรูป) แบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังต่อไปนี้ เพื่อป้องกันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจากการเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรง/วินาศภัย (Catastrophic) ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิต ทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม และชุมชนโดยรอบ


ก) ความมุ่งมั่นต่อการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Commit to Process Safety Management)

          ระบบการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต (PSM) จะเริ่มต้นจาก “การมีส่วนร่วมของพนักงาน” โดยผู้บริหารระดับสูงของผู้ประกอบอุตสาหกรรมต้องจัดให้มีข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยกระบวนการผลิต และให้พนักงานมีส่วนร่วมในการจัดทำขั้นตอนแผนการปฏิบัติงานตามแต่ละข้อกำหนดและนำไปปฏิบัติ พร้อมทั้งให้พนักงานได้รับทราบและสามารถสืบค้น/เข้าถึงข้อมูลเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติงานได้


ข) ความเข้าใจและการระบุปัจจัยความเสี่ยง (Understand & Identify Risk)

     ผู้ประกอบอุตสาหกรรมต้องเข้าใจและสามารถระบุถึงปัจจัยความเสี่ยง/ความเป็นอันตรายที่อาจเกิดจากกระบวนการผลิตที่มีสารเคมีอันตรายร้ายแรง โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) ข้อมูลความปลอดภัยกระบวนการผลิต ผู้ประกอบอุตสาหกรรมต้องรวบรวมและจัดทำเอกสารข้อมูลความปลอดภัยกระบวนการผลิต เช่น SDS ของสารเคมีอันตรายร้ายแรง ข้อมูลเทคโนโลยีกระบวนการผลิตและข้อมูลอุปกรณ์กระบวนการผลิต และควบคุมติดตามให้เอกสารข้อมูลความปลอดภัยกระบวนการผลิตมีความเป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา

2) ความลับทางการค้า:  ผู้ประกอบอุตสาหกรรมต้องให้ความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้าแก่ผู้ปฏิบัติงานและผู้ตรวจประเมินถ้าข้อมูลนั้นเกี่ยวข้องกับความเสี่ยง/ความเป็นอันตรายโดยเฉพาะข้อมูลสารเคมีอันตรายร้ายแรง โดยสามารถทำข้อตกลงที่ไม่เปิดเผยข้อมูลได้

3) การวิเคราะห์อันตรายกระบวนการผลิต:  ผู้ประกอบอุตสาหกรรมต้องนำข้อมูลความปลอดภัยกระบวนการผลิตและความลับทางการค้ามาใช้เป็นข้อมูลประกอบเพื่อใช้ในการวิเคราะห์อันตรายกระบวนการผลิตโดยใช้วิธีการชี้บ่งอันตรายที่เหมาะสมกับกระบวนการผลิต เช่น HAZOP เป็นต้น ว่าจะมีความเสี่ยง/อันตรายอะไรบ้างเกิดขึ้น


ค)การบริหารจัดการความเสี่ยง (Manage Risk)

ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสามารถบริหารจัดการและควบคุมความเสี่ยง/อันตรายได้สองวิธี ดังนี้
ค.1) การควบคุมด้านวิศวกรรม ซึ่งประกอบด้วย

4) ความพร้อมใช้ของอุปกรณ์:  อุปกรณ์จะต้องมีความพร้อมใช้งานอย่างปลอดภัยโดยมีการออกแบบและติดตั้งอย่างถูกต้องตามหลักวิศวกรรม รวมถึงการวางแผนดำเนินการดูแล บำรุงรักษา ตรวจสอบ และทดสอบอุปกรณ์ พร้อมทั้งดำเนินการตามแผนอย่างสม่ำเสมอ

5) การจัดการการเปลี่ยนแปลง: ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ใด ๆ ในกระบวนการผลิตรวมถึงการเปลี่ยนแปลงสำหรับบุคคล ผู้ประกอบอุตสาหกรรมจะต้องมีการจัดการการเปลี่ยนแปลงเพื่อทบทวนการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในกระบวนการผลิตที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ใด ๆ ในกระบวนการผลิต

6) การทบทวนความปลอดภัยก่อนการเริ่มเดินเครื่อง:  กรณีที่มีการติดตั้งเครื่องจักรใหม่หรือดัดแปลงกระบวนการผลิตหรือซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ ผู้ประกอบอุตสาหกรรมจะต้องยืนยันความสอดคล้องตามแผนการทบทวนความปลอดภัยก่อนการเริ่มเดินเครื่องก่อนนำสารเคมีอันตรายร้ายแรงหรือสารที่มีความดันหรืออุณหภูมิที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อพนักงานและกระบวนการผลิต ตลอดจนการนำไนโตรเจน ไอน้ำ เข้าสู่กระบวนการผลิต

ค.2) การควบคุมด้านบริหารจัดการ ซึ่งประกอบด้วย

7) ขั้นตอนการปฏิบัติงาน:  เมื่อทราบถึงความเสี่ยง/อันตรายของกระบวนการผลิต ผู้ประกอบอุตสาหกรรมต้องเขียนขั้นตอนการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับข้อมูลความปลอดภัยกระบวนการผลิตและผลการวิเคราะห์อันตรายกระบวนการผลิตเพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายขึ้น

8) การฝิกอบรม:  ผู้ประกอบอุตสาหกรรมจะต้องฝิกอบรมพนักงานประจำและพนักงานใหม่ตามขั้นตอนการปฏิบัติงานและมีการฝิกอบรมเพื่อทบทวนความรู้ (Refresh Training) แก่พนักงานทุก 3 ปี

9) การจัดการความปลอดภัยผู้รับเหมา:  ผู้ประกอบอุตสาหกรรมต้องดำเนินการดังนี้

     -คัดกรองผู้รับเหมาที่สามารถปฏิบัติงานโดยไม่เกิดอันตราย

-อธิบายระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานแก่ผู้รับเหมา เช่น การขออนุญาตเข้าทำงานในบริเวณที่อาจทำให้เกิดความร้อนและประกายไฟ (Hot Work Permits) หรือเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน ผู้รับเหมาจะต้องปฏิบัติตามแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินอย่างไร

     -ดำเนินการควบคุมผู้รับเหมาให้ปฏิบัติงานให้เกิดความปลอดภัย

10) การอนุญาตทำงานที่อาจทำให้เกิดความร้อนและประกายไฟ และการอนุญาตทำงานที่ไม่ใช่งานประจำ:  ผู้ประกอบอุตสาหกรรมต้องจัดทำระบบใบอนุญาตทำงานและกำหนดขั้นตอนการขออนุญาตทำงานสำหรับการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับความร้อนหรือก่อให้เกิดประกายไฟ (เช่น สถานที่เก็บวัตถุไวไฟ) และสำหรับการปฏิบัติงานที่ไม่ใช่งานประจำ (เช่น การปฏิบัติงานในที่อับอากาศ การตัดแยกระบบเพื่อความปลอดภัยระหว่างการบำรุงรักษา เป็นต้น) เพื่อใช้ในการควบคุมการทำงานของพนักงานและผู้รับเหมา

11) การเตรียมความพร้อมและการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน:  ผู้ประกอบอุตสาหกรรมต้องจัดทำ ฝิกอบรม และฝิกซ้อมขั้นตอนและแผนปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินรวมทั้งแผนการสื่อสารในภาวะฉุกเฉินกับผู้เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งสามารถนำแผนฉุกเฉินและแผนการสื่อสารดังกล่าวไปใช้ตอบโต้ภาวะฉุกเฉินอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเกิดอุบัติเหตุรุนแรงขึ้น

ง) การถอดบทเรียน (Lesson Learned)

ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสามารถถอดบทเรียนเพื่อเรียนรู้ ค้นหาสาเหตุ/ข้อบกพร่อง และป้องกันมิให้เกิดซ้ำได้ ดังนี้

12) การสอบสวนอุบัติการณ์:  ถึงแม้ว่าผู้ประกอบอุตสาหกรรมเข้าใจและสามารถระบุถึงปัจจัยความเสี่ยง/ความเป็นอันตราย พร้อมทั้งสามารถบริหารจัดการและควบคุมความเสี่ยง/ความเป็นอันตรายนั้นไว้ได้ แต่อาจมีโอกาสจะเกิดอุบัติเหตุขึ้น ดังนั้น เมื่อเกิดอุบัติการณ์ใด ๆ ขึ้น เช่น ไฟไหม้ ระเบิด สารเคมีอันตรายร้ายแรงรั่วไหล ผู้ประกอบอุตสาหกรรมจะต้องเริ่มดำเนินการสอบสวนภายใน 48 ชั่วโมง นับจากเกิดเหตุ เพื่อค้นหาสาเหตุและป้องกันมิให้เกิดซ้ำอีก

13) การตรวจประเมินการปฏิบัติตามข้อกำหนด:  ผู้ประกอบอุตสาหกรรมจะต้องดำเนินการตรวจประเมินภายในโดยคณะผู้ตรวจประเมินของสถานประกอบการเอง และรับการตรวจประเมินภายนอกโดยคณะผู้ตรวจประเมินที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กนอ. ทั้งนี้ ผู้ประกอบอุตสาหกรรมสามารถถอดบทเรียนจากทั้งการตรวจประเมินภายในและการตรวจประเมินภายนอกด้านการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต โดยเรียนรู้จากข้อบกพร่องและดำเนินการแก้ไขตามแผนปฏิบัติการแก้ไขเพื่อป้องกันมิให้เกิดซ้ำอีก

ทั้งนี้ ผู้ประกอบอุตสาหกรรมต้องดำเนินการการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิตอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยประยุกต์ใช้หลักการ PDCA ได้แก่ การวางแผน (Plan) การปฏิบัติตามแผน (Do) การตรวจสอบการปฏิบัติตามแผน (Check) และการปรับปรุงแก้ไข (Act) ทั้งนี้ หลังจากปรับปรุงแก้ไขแล้วเสร็จ ผู้ประกอบอุตสาหกรรมจะต้องปฏิบัติตามระบบการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต (PSM) อย่างต่อเนื่อง โดยหมุนวงรอบตามวงจร PDCA ขึ้นไปอีกรอบ เพื่อวางแผนยกระดับมาตรฐานการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับ PSM และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ดาวน์โหลด

- ข้อบังคับฯ PSM

- แนวทางการตรวจประเมิน PSM และการยื่นขอคําขอตรวจประเมินภายนอก

- คุณสมบัติผู้ตรวจประเมินภายนอก และการยื่นขอคําขอขึ้นทะเบียนผู้ตรวจประเมินภายนอก

- รายชื่อผู้ตรวจประเมินภายนอก

- PSM Knowledge Management

จดหมาย กฎหมายใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ PSM ลงวันที่ 28 เมษายน 2564 (Link)

การอบรมระบบ epp ของ PSM

เอกสารการอบรม สำหรับผู้ตรวจประเมินภายนอก

VDO การอบรม สำหรับผู้ตรวจประเมินภายนอก

เอกสารการอบรม สำหรับผู้ประกอบการ

VDO การอบรม สำหรับผู้ประกอบการ

Border